VTR ประชาสัมพันธ์ โครงการ “ประชารัฐพัฒนาอุตสาหกรรมสับปะรด” และ VTR ผลการดำเนินโครงการ “ประชารัฐพัฒนาอุตสาหกรรมสับปะรด”

บท VTR ประชาสัมพันธ์ โครงการ “ประชารัฐพัฒนาอุตสาหกรรมสับปะรด”

(VTR แผ่น 1 เพื่อการประชาสัมพันธ์โครงการ) กันยายน 2560

——————————————————–

ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และได้ชื่อว่าเป็นแหล่งใหญ่ในการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก ดังจะเห็นได้จากตัวเลขมูลค่าการส่งออกในแต่ละปี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินค้าจากพืช ซึ่งนับเป็นสินค้าหลักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยมูลค่าการส่งออกกว่า 400,000 ล้านบาท ในแต่ละปี โดยมีตลาดหลักได้แก่ ประเทสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเอเชีย

อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปสับปะรดถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะปลูก และแปรรูปสินค้าสับปะรดที่สำคัญของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 26,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ภาคอุตสาหกรรมสับปะรดของไทยยังคงประสบอยู่ในปัจจุบันก็คือ ปัญหาเรื่องคุณภาพวัตถุดิบสับปะรด ที่พบว่ากว่าร้อยละ 80 ของสับปะรดที่เกษตรกรผลิตส่งให้กับโรงงานแปรรูป มีปริมาณการตกค้างของสารไนเตรทที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดมาก ซึ่งกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสินค้าสับปะรดไทย และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาประการหนึ่ง คือ การสนับสนุนให้เกษตรกรได้ทำการผลิตตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice หรือ GAP) เพื่อให้ได้สับปะรดที่มีคุณภาพ และสามารถป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปได้อย่างสม่ำเสมอ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการผลิต การบริโภคสินค้าสับปะรด ภายใต้การจัดการสุขลักษณะฟาร์ม รวมถึงการปฏิบัติและควบคุมการผลิตเพื่อให้ได้สินค้าที่มีมาตรฐานปลอดภัยต่อการบริโภค

ผู้ประกอบการภาคเอกชน เกษตรกร และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำโครงการ “ประชารัฐพัฒนาคุณภาพสับปะรดเพื่ออุตสาหกรรม” ขึ้น เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด และ โรงงานแปรรูป โดยดำเนินการในลักษณะโครงการนำร่องในรูปแบบของเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อให้ผลผลิตสับปะรดที่ได้มีคุณภาพดี มีมาตรฐาน และปลอดภัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สามารถขยายผลไปสู่การวางแผนการผลิตสับปะรดที่มีคุณภาพได้ทั้งประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว

นับเป็นอีกหนึ่งของความร่วมมือที่สำคัญในอันที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรมสับปะรดของไทยไปสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน และประเทศชาติ ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตรและอาหาร โดยการแก้ไขปัญหา และพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปสินค้าสับปะรดอย่างเป็นระบบภายใต้การเชื่อมโยงของกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและหลากหลาย เกิดธุรกิจชุมชนในรูปแบบของการมีส่วนร่วม และการเป็นเจ้าของ อันจะนำมาซึ่งรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องเกษตรกรสืบต่อไป

 

บท VTR ประชาสัมพันธ์ โครงการ “ประชารัฐพัฒนาอุตสาหกรรมสับปะรด”

(VTR แผ่น 2 ผลการดำเนินโครงการ) กันยายน 2560

——————————————————–

โครงการ “ประชารัฐพัฒนาคุณภาพสับปะรดเพื่ออุตสาหกรรม” ริเริ่มโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชน โรงงานแปรรูป เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการตกค้างของสารไนเตรทในวัตถุดิบสับปะรดที่มีในสับปะรดที่แปรรูปแล้ว ทำให้ได้ผลผลิตสับปะรดสดที่ดี มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และ สามารถใช้เป็นแปลงต้นแบบนำร่องในการวางแผนเชื่อมโยงการผลิตสับปะรดให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงงาน ขยายผลไปสู่การวางแผนการผลิตสับปะรดที่มีคุณภาพได้ทั้งประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว

เพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย โครงการจึงได้จัดอบรมหลักสูตร การผลิตสับปะรดตามระบบ GAP ให้แก่เกษตรผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 300 รายเพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการผลิตที่ถูกต้องเหมาะสมตามระบบ GAP สามารถผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพไม่มีสารไนเตรทตกค้างในผลสับปะรดและโรงงานแปรรูปสับปะรดสามารถนำผลผลิตดังกล่าวไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สับปะรดที่มีคุณภาพเพื่อการส่งออกต่อไป

นอกจากนี้ โครงการได้ทำการตรวจติดตามผลการปลูกของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักการที่สำคัญ คือ บุคลากรทุกคนในแปลงมีส่วนร่วมในระบบการจัดการคุณภาพ ผลิตสับปะรดโรงงานอย่างซื่อตรง ตามความต้องการของคู่ค้าและผู้บริโภค และได้มาตรฐาน พัฒนาบุคลากร และผลิตผลอย่างต่อเนื่อง มีการบันทึกและการควบคุมเอกสาร

รวมถึงการสุ่มติดตามผลการปลูกสับปะรด พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกสับปะรดสอดคล้องตามข้อกำหนดของระบบ GAP และ เกษตรกรจะส่งมอบผลผลิตสับปะรดตามมาตรฐาน GAP ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมสับปะรด ตามข้อกำหนดที่สำคัญ คือ

  1. ผลิตสับปะรดที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางและความยาวผลไม่น้อยกว่า 9.0 เซนติเมตรและไม่เกิน 15.5 เซนติเมตรและมีความแก่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทั้งผล (สับปะรดสุกปาดเหลือง)
  2. ผลิตสับปะรดที่มีสารไนเตรทในผลไม่เกิน 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักผล 1 กิโลกรัม
  3. ผลิตสับปะรดที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง
  4. ผลิตสับปะรดที่ปลอดจากศัตรูพืช

จากผลการดำเนินงานโครงการในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา สามารถพิสูจน์ให้เห็นในเชิงประจักษ์ว่า การผลิตสับปะรดตามระบบคุณภาพมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสาหรับสับปะรด เป็นเครื่องมือที่สำคัญ ช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรมสับปะรดของไทยไปสู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน และประเทศชาติ ด้วยการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตรและอาหาร   อันจะนำมาซึ่งรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องเกษตรกรสืบต่อไป

#สร้างภาพงานถนัด #allartgraphic
ติดต่องานออกแบบ 0612962944
line id: paripatlight

www.paripatlight.com