รัฐบาลขยายผลออกมาตรการช่วย “เอสเอ็มอี-ผู้ประกอบการรายใหม่” คลัง-กระทรวงวิทย์ ชง ครม.กำหนดเงื่อนไขให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ท้องถิ่น จัดสรรงบฯ 10-30% จัดซื้อสินค้า SMEs-นวัตกรรมไทย เตรียมตั้งคณะทำงานตรวจสอบก่อนขึ้นบัญชี จับตา “ยา-เวชสำอาง-เครื่องมือแพทย์-ครุภัณฑ์ทางทหาร” กว่า 100 รายการจ่อคิวรับสิทธิพิเศษ เฮ ! ลั่นมีสิทธิ์แย่งเค้กจัดซื้อจัดจ้างรัฐปีละ 5-7 แสนล้าน
รัฐบาลยังเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) ในอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือด้านภาษี มาตรการด้านสินเชื่อ และการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังรวม 5 มาตรการแล้ว ล่าสุดนโยบายการดังกล่าวได้ถูกนำมาขยายผลโดยมีเป้าหมายให้ SMEs กับผู้ประกอบการรายใหม่ สามารถพัฒนายกระดับคุณภาพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วยการกำหนดนโยบายให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างส่วนหนึ่ง ซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ รวมทั้งสินค้าจาก SMEs และกลุ่ม Startup โดยตั้งเป้าดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ 2559 นี้
จัดซื้อนวัตกรรมไทย 10-30%
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ฯลฯ อยู่ระหว่างจัดทำมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่ม Startup โดยดำเนินการตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานท้องถิ่น จัดสรรวงเงินจากเงินงบประมาณประจำปี จัดซื้อจัดจ้างวัสดุ ครุภัณฑ์ และสินค้าจากผู้ผลิตที่เป็น SMEs และกลุ่ม Startup โดยเฉพาะสินค้านวัตกรรมที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในบัญชีรายชื่อนวัตกรรมไทย โดยกำหนดเงื่อนไขให้จัดซื้อในสัดส่วนตั้งแต่ 10-30% จากงบประมาณแผ่นดิน หรือให้จัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษ เพื่อสร้างตลาดให้สินค้านวัตกรรมสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กับกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอเรื่องทั้งหมดบรรจุเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากก่อนหน้านี้เคยเสนอผ่าน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกฯ แต่บังเอิญมีการปรับเปลี่ยน ครม. จึงถูกส่งกลับมาทบทวน อย่างไรก็ตาม นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ยังยืนยันในหลักการเดิม
สอดรับนโยบายปั้น 7 คลัสเตอร์
เนื่องจากเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่เสนอได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ประกอบด้วย ที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษของหน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการสร้างตลาดนวัตกรรมในหน่วยงานของรัฐ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ที่นายกฯเป็นประธานประกอบกับแนวทางดำเนินการเรื่องนี้
สอดคล้องกับนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า โดยส่วนหนึ่งคือการช่วยเหลือสนับสนุน SMEs และกลุ่ม Startup โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ 7 คลัสเตอร์ ได้แก่ เกษตรแปรรูปและอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี สินค้าไอที สิ่งทอ ฯลฯ
ชง ครม.ตั้งคณะทำงานกลั่นกรอง
ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอจดทะเบียนอยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐตามนโยบายรัฐบาล ทำหน้าที่กลั่นกรองสินค้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้มีผู้มายื่นขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยรวมแล้วกว่า 100 ราย และมีทยอยยื่นคำขอเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สารพัดสินค้าจากสมองคนไทย
สำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยกว่า 100 รายการ และขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ มีทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เวชสำอาง วิศวกรรม ครุภัณฑ์ทางทหาร อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เครื่องจักรด้านการเกษตร เครื่องจักรอุตสาหกรรม อาทิ เครื่องบินทะเล เสื้อเกราะกันกระสุน หมอนรองทางรถไฟจากผลิตภัณฑ์ยางพารา รถพยาบาลนาโน เครื่องกระตุกหัวใจ ชุดเผือกลม ยาสมุนไพร สารสกัดจากเมล็ดข้าว แผ่นโปรตีนจากไหม น้ำตาลลำไย ที่มาสก์หน้า เครื่องตรวจไส้เดือน ชุดแยกตรวจเพศปลา ฯลฯ
ชิงเค้กจัดซื้อจัดจ้างแสนล้าน
แหล่งข่าวกล่าวว่า ถ้าหากการให้สิทธิพิเศษโดยกำหนดเงื่อนไขให้หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ท้องถิ่น จัดสรรงบฯจัดซื้อจัดจ้างสินค้า SMEs และนวัตกรรมไทย 10-30% หรือจัดซื้อโดยวิธีกรณีพิเศษเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้จริง จะทำให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากมีตลาดและมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากแต่ละปีหน่วยงานรัฐทั้งระบบมีการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก
ทั้งนี้เฉพาะในส่วนของสินค้าวัสดุครุภัณฑ์ สถิติการจัดซื้อจัดจ้างมีดังนี้ ปี 2555 ยอดจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบการประมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ 5.11 แสนล้านบาท ปี 2556 จัดซื้อจัดจ้าง 1.02 ล้านล้านบาท ปี 2557 ที่ผ่านมา 7.94 แสนล้านบาท
หนุนซื้อนวัตกรรมไทย 30%
นายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบสนับสนุนให้มีการจัดซื้อนวัตกรรมไทยมากขึ้น โดยมีการกำหนดสัดส่วนการจัดซื้อไว้ที่ไม่เกิน 30% ของจำนวนสินค้าที่จัดซื้อจัดจ้าง เช่น จัดซื้อสินค้า 100 ชิ้น ก็ให้ซื้อสินค้าที่เป็นนวัตกรรมไทยไม่เกิน 30 ชิ้น เป็นต้น
“ไม่เชิงว่าต้องจัดซื้อจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่เป็นของหน่วยงานของรัฐที่ทำวิจัยและมีการผลิตสินค้า เช่น หน่วยธุรกิจของ สวทช. เป็นต้น”
ทั้งนี้ สินค้าที่จะอยู่ในรายการที่สามารถจัดซื้อได้จะมีการทำเป็นบัญชีรายชื่อไว้ โดยขณะนี้ทาง สวทช.อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ เมื่อทำเสร็จจะนำเสนอเข้าคณะกรรมการ กพน.อนุมัติ โดยน่าจะประมาณกลางเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นจะประกาศไว้บนเว็บไซต์ของ สวทช. ขณะที่ในส่วนของสำนักงบประมาณก็จะจัดทำทะเบียนบัญชีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ประกาศไว้บนเว็บไซต์สำนักงบประมาณด้วยเช่นกัน
จ่อบังคับใช้กฎใหม่จัดซื้อจัดจ้าง
“บัญชีสินค้า ทาง สวทช.จะเป็นคนขึ้นทะเบียน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ส่วนราชการก็มีจัดซื้อจัดจ้างสินค้าประเภทนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีการกำหนดไม่เกิน 30% ไว้ แต่จะซื้อตามความต้องการของแต่ละหน่วยงาน เช่น หน่วยงานทางทหาร ก็มีการซื้อเสื้อเกราะกันกระสุน หรือกรมการปกครองก็มีซื้อ ซึ่งราคาจะถูกกว่าต่างประเทศ ส่วนคุณภาพก็มีหลายมาตรฐาน” นายสมศักดิ์กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2558 โดยที่ประชุมดังกล่าวได้เห็นชอบในหลักการต่อแผนที่นำทางการบูรณาการผลงานวิจัยเครื่องบินทะเลและเสื้อเกราะกันกระสุนสู่การใช้งานจริง พร้อมทั้งได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อผลักดันนโยบายส่งเสริมการสร้างตลาดนวัตกรรมในหน่วยงานภาครัฐเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เตรียมพร้อมการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …
แจกเงินทุน-ลดภาษี R&D 4 เท่า
ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติทุนมาแล้วสำหรับสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากนี้คือการนำเงินมาใช้ติดอาวุธให้ผู้ประกอบการ โดยในแง่การทำงานจะเป็นการบูรณาการระหว่างกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงไอซีทีจะเป็นผู้ประสานด้านเทคโนโลยีให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ซึ่งจะมีโครงการต่าง ๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ภายใน 3-4 เดือนนี้
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับกระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมให้เอกชนที่ลงทุนใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากก่อนหน้านี้เคยลดภาษีให้ 3 เท่าของวงเงินที่ใช้จ่ายเพื่อการวิจัย เพิ่มเป็น 4 เท่า โดยจะเสนอเข้า ครม.เร็ว ๆ นี้
คมนาคม-มท.ขานรับ
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จะหารือกับผู้บริหารของแต่ละกรมว่าจะสามารถซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และผู้ประกอบการรายใหม่ที่ผลิตสินค้านวัตกรรมอย่างไรได้บ้าง ในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นการช่วยเหลือในลักษณะซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เป็นของที่ระลึกในวันปีใหม่ และเป็นของที่ระลึกระหว่างปีสำหรับผู้แทนและบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาเยี่ยมเยือนกระทรวง
ขณะที่กระทรวงมหาดไทย โดยนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือสั่งการถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ สั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจและขึ้นทะเบียน SMEs กับกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ พร้อมกับให้จัดตั้งคณะทำงานในระดับจังหวัด โดยดึงผู้ประกอบการร่วมเป็นคณะทำงาน ตั้งเป้าพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตของ SMEs และผู้ประกอบการหน้าใหม่
ขณะเดียวกันก็ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง กรม สำรวจความต้องการในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยขอความร่วมมือให้สนับสนุนสินค้า SMEs และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมไทย
ที่มา https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1442579843